Last updated: 11 ก.ย. 2563 | 8126 จำนวนผู้เข้าชม |
ขุนช้าง ขุนแผนมีจริงไหม? ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ณ วัดป่าเลไลย์วรวิหาร และวัดแค สุพรรณบุรี
นิทานพื้นบ้านเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ที่เราต่างได้ยินมาตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ตามประวัติแล้วเชื่อว่าเป็นนิทานที่แต่งขึ้นโดยนักขับเสภาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้เหล่ากวีแต่งขึ้นใหม่ รวมถึงพระราชนิพนธ์เองหลายตอน ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระราชนิพนธ์ต่อ รวมถึงบรมครูสุนทรภู่ที่แต่งเสริมในตอน “กำเนิดพลายงาม” และครูแจ้งในรัชกาลที่ 4 แต่งเสริมต่อมา จึงเห็นว่าวรรณคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาหลายยุคสมัย
แต่!! ยังมีคำถามที่ถกเถียงหลายประเด็นว่า นิทานพื้นบ้านดังกล่าวอาจอิงมาจากเรื่องจริง ที่คนหลายรุ่นเล่าต่อกันมา ซึ่งบางส่วนมีความเชื่อกันว่าบุคคลในนิทานพื้นบ้านดังกล่าวมีตัวตนจริง ๆ และเรื่องราวในตัวละครนั้นเป็นเรื่องราวที่เกิดที่จริงครั้งตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่หากว่าจะมีการดัดแปลงแต่งเติมขึ้นมาจากการเล่าต่อกันมาของคนรุ่นหลังจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเรื่องราวของขุนช้าง ขุนแผนมีปรากฎในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ซึ่งคนบางส่วนที่เชื่อว่านิทานพื้นบ้านขุนช้าง ขุนแผนที่มีอยู่จริงนั้นจะเกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2034-2074 เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสุพรรณบุรีและกาญจนบุรี
ฟูได้เดินทางมาทำบุญ ไหว้พระ ณ วัดป่าเลไลย์วรวิหาร (พิกัดวัดป่าเลไลย์วรวิหารคลิกที่นี่) วัดแห่งนี้มีอาณาเขตที่กว้างมาก และมีเรื่องราวของขุนช้าง ขุนแผน เป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านขุนช้าง ขุนแผน ทุกตอนจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเลยค่ะ นับว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยาวมาก สามารถเดินดูได้ตลอดแนวทางเดินที่ล้อมวิหารที่ฟูจะเดินไปไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์วรวิหาร ซึ่งวัดป่าเลไลย์วรวิหาร เป็นวัดที่ปรากฎอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนที่ขุนแผนเมื่อเยาววัยเคยมาบวชเรียนที่วัดในชื่อว่าเณรแก้ว
เวลาเปิดปิด : 8.00-17.00 น.
รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ตอน “พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม” ตอน “ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง” และตอน “ขุนแผนเข้าห้องแก้วกิริยา”
รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ตอน “ขุนช้างตามวันทอง”
บรมครูสุนทรภู่แต่งตอน “กำเนิดพลายงาม”
ครูแจ้งในรัชกาลที่ 4 แต่งตอน “กำเนิดกุมารทอง” “ขุนแผน พลายงามแก้พระท้ายน้ำ” และ “ขุนแผน พลายงามสะกดเจ้าเมืองเชียงใหม่”
จากนั้นฟูได้เดินไปไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์วรวิหาร ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหาร หลวงพ่อโตองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนักที่หากใครแวะมาทำบุญไหว้พระจะต้องมาแวะไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์วรวิหารทุกครั้ง
หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์วรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางป่าเลไลยก์ สร้างตามแบบศิลปะอู่ทองรุ่นที่สอง โดยช่างอู่ทองแท้ ๆ มีความสูง 23 เมตรเศษ เป็นพระพุทธรูปที่คู่บ้านคู่เมืองสุพรรณมาแต่โบราณกาล ซึ่งมีอายุมากกว่าพันปี โดยความศักดิ์สิทธิของหลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์วรวิหารที่เลื่องชื่อ สามารถไหว้พรของพรท่านได้ในเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงาม ธุรกิจการค้าต่าง ๆ ให้มีชื่อเสียงเลื่องลือไกล
เมื่อไหว้หลวงพ่อโตวัดป่าเลไลย์วรวิหาร เสร็จแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้นั้นคือการเดินไปทางด้านหลังวิหาร เพื่อไปไหว้พระพุทธรูปองค์ด้านหลังที่ชื่อว่า “หลวงพ่อดำ” ที่บ้างมีความเชื่อว่าเป็นพี่น้องกันกับหลวงพ่อโต โดยหลวงพ่อโตเป็นองค์พี่ และหลวงพ่อดำเป็นองค์น้อง ซึ่งเราจะเห็นองค์หลวงพ่อดำยังคงความอนุรักษ์ศิลปะแบบเดิม ๆ
เมื่อไหว้ “หลวงพ่อดำ” ฟูก็เดินไปทางฝั่งเรือนขุนช้าง ก่อนที่จะถึงเรือนขุนช้าง จะต้องผ่าน “หลวงพ่อขาว” ที่ประดิษฐาน ณ โบสถ์มหาอุตม์ก่อน ซึ่งหลวงพ่อขาวองค์นี้เคยมีเรื่องราวตำนานเกี่ยวกับพระกินเณร ในเมืองสุพรรณ ซึ่งในอดีตเคยมีเรื่องราวเณรได้หายไปและเสียชีวิตในโบสถ์แห่งนี้ โดยด้านหลังฐานขององค์พระหลวงพ่อขาวจะป็นทางลงไปยังชั้นล่าง และเป็นสถานที่ที่มีพระพุทธรูปมากมายอยู่ใต้ล่างนั้น ก่อนที่จะถูกปิดตายเพื่อไม่ให้คนเข้าออกลงไป บ้างก็มีความเชื่อว่าใต้ล่างนั้นเป็นเมืองลับแล ที่คนลงไปแล้วอาจไม่สามารถออกมาได้ โบสถ์มหาอุตม์แห่งนี้จึงเป็นโบสถ์ที่ห้ามผู้หญิงเข้าไปในโบสถ์ มีเพียงผู้ชายที่สามารถเข้าไปในโบสถ์ได้เท่านั้น และโบสถ์มหาอุตม์แห่งนี้พึ่งเปิดให้คนมากราบไหว้ หลังจากที่ปิดตายมานานหลายปี
ความศักดิ์สิทธิ์ของ “หลวงพ่อขาว” นั้นมีความศักดิ์สิทธิ์มากทีเดียว เนื่องจากโบสถ์มหาอุตม์ นั้นจะเป็นสถานที่ถ่ายทอดหรือปลุกเสกเครื่องรางของขลัง โบสถ์มหาอุตม์จึงมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์มากทีเดียว และมีความเชื่อกันว่าการเข้าไปยังโบสถ์มหาอุตม์นั้นจะช่วยล้างอาถรรพณ์ คุณไสย ของไม่ดี หรือมีวิญญาณที่ไม่ดีติดตามตัวเรามา รวมถึงครอบคลุมพุทธคุณทั้งหลาย แก้ดวงตกอีกด้วย รวมถึงบารมีหลวงพ่อขาวที่มีบารมีมากเช่นกัน สำหรับผู้หญิงนั้นจึงสามารถไหว้หลวงพ่อขาวได้จากด้านนอกโบสถ์เท่านั้นค่ะ
เรือนขุนช้าง เรือนไม้ไทยโบราณขนาดใหญ่ทีเดียว บ่งบอกถึงความมั่นคั่งของขุนช้างในสมัยนั้น ภายในเรือนขุนช้างจะมีข้าวของเครื่องใช้ภายในเรือน รวมถึงภาพของนางวันทองอีกด้วยค่ะ
สำหรับใครตามเรื่องนิทานพื้นบ้านขุนช้าง ขุนแผนต่อ ก็พลาดไม่ได้ที่จะเดินทางไปยังคุ้มขุนแผน และวัดแค สุพรรณบุรี (พิกัดวัดแค สุพรรณบุรีคลิกที่นี่) ที่เป็นสถานที่ขุนแผนเคยร่ำเรียนวิชาเช่นกัน เวลาเปิดปิดวัดแค สุพรรณบุรี : 9.00-17.00 น.
ณ วัดแคนี้ เราจะเห็นคุ้มขุนแผน ที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านของขุนแผนในสมัยนั้น
เมื่อเดินไปทางฝั่งด้านหลังเรือนไม้จะเห็นรูปหล่อขรัวตาคงนั่งบนหลังตัวต่อขนาดใหญ่ ขรัวตาคงนับว่าเป็นพระเกจิชื่อดังที่มีวิชาอาคมแกร่งกล้า และบ้างเชื่อว่าเป็นหลวงตาที่สอนวิชาให้กับขุนแผน โดยวีธีขอพรนั้นคือการโน้มศรีษะลงแตะหน้าผากตัวต่อ แล้วอธิษฐานขอพรในเรื่องความสำเร็จหน้าที่การงาน ธุรกิจการค้า รวมถึงสุขภาพได้เลยค่ะ
นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นขุนแผน พรายกุมาร และนางวันทอง ในโบสถ์มหาอุตม์ ที่ผู้หญิงสามารถเข้าไปได้ที่นับว่าหายากมาก แต่ก่อนที่ฟูจะเดินไปยังโบสถ์มหาอุตม์ จะต้องผ่านต้นมะขามใหญ่ในวัดแค โดยต้นมะขามใหญ่ในวัดแคที่มีขนาดรอบวง 10 เมตร สูง 15 เมตร นี้มีความเชื่อว่าขุนแผนได้เรียนวิชาเสกใบมะขามจากต้นมะขามต้นนี้ให้เป็นตัวต่อตัวแตนจากขรัวตาคง
ณ โบสถ์มหาอุตม์แห่งนี้ จะมีพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก และรูปหล่อขุนแผน พรายกุมาร และนางวันทองด้วยเช่นกัน น่าแปลกตรงที่นอกจากองค์พระพุทธรูปแล้ว คนนิยมมาไหว้พรายกุมาร และนางวันทองเช่นกัน จากเห็นได้จากมีของเล่นมาถวาย และน้ำอบสมุนไพรมากทีเดียว จนโบสถ์แห่งนี้หอมไปด้วยน้ำอบ
คำถามที่ว่า นิทานพื้นบ้านขุนช้าง ขุนแผน หากเป็นเพียงเรื่องราวที่แต่งขึ้นเท่านั้น ทำไม? ถึงมีสถานที่ที่ดูคล้ายเติมแต่งให้เหมือนตัวละครดูมีตัวตนจริง ๆ ขึ้นมา ทั้งเรือนขุนช้าง คุ้มขุนแผน การบวชเรียนของขุนแผนที่วัดป่าเลไลย์วรวิหาร การเรียนวิชาจากขรัวตาคง ที่วัดแค สุพรรณบุรี โดยขรัวตาคงนั้นเป็นเกจิอาจารย์ที่มีอยู่จริง และเป็นอาจารย์ของขุนแผนองค์แรก รวมถึงต้นมะขามใหญ่ที่เป็นสถานที่ที่ขุนแผนใช้เสกวิชาอาคม หากเรื่องขุนช้าง ขุนแผนเป็นเพียงเรื่องแต่งขึ้น บทบาทการจำลองสถานที่ต่าง ๆ จะไม่ได้มีบทบาทหรือมากมายขนาดนี้
และสิ่งที่เราต่างรู้ดีอยู่ว่า เรื่องราวของขลังขุนแผนในด้านเสน่ห์มหานิยม ทำไม? ถึงมีความศักดิ์สิทธิ์ และมีชื่อเสียงมากจนคนต่างมานิยมบูชา เพราะหากตัวละครไม่มีอยู่จริง เครื่องรางของขลังเหล่านี้จะศักดิ์สิทธิ์ได้อย่างไร
อย่างไรนั้นยังเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย และไม่สามารถหาคำตอบได้ มีเพียงความเชื่อของบุคคลเท่านั้นว่าอยู่ที่คุณว่าจะเชื่ออะไรมากกว่า เชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องราวที่แต่งขึ้น หรือเรื่องแต่งขึ้นที่นำสถานที่จริงมาเขียนประกอบเรื่องราวให้ดูเหมือนจริง หรือเชื่อว่าเป็นเรื่องที่มาจากเคล้าโคลงเรื่องจริงแล้วนำมาเขียนขึ้น แต่อย่างไรนั้นสิ่งนั้นมันไม่ได้มีความสำคัญไปกว่า “เราได้แง่คิดอะไรในเรื่องราวนิทานพื้นบ้านขุนช้าง ขุนแผนนั่นเอง”
23 มิ.ย. 2563